สำหรับคนที่มีนิสัยรับประทานรสจัด รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ชอบรับประทานกาแฟ
รับประทานยาแก้ปวดชนิดกัดกระเพาะตอนท้องว่างอยู่บ่อยๆ สูบบุหรี่ดื่มน้ำอัดลม มีความเครียดสะสม
วิตกกังวลเป็นประจำ อาการหนึ่งที่คนกลุ่มนี้มักจะพบ คือ อาการปวดท้องจากกรดเกินที่กระเพาะอาหาร
ซึ่งอาจนำไปสู่โรคแผลในกระเพาะอาหาร แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น หรือกรดไหลย้อนได้ในอนาคต โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการดังกล่าว หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นยาในกลุ่ม “ยาลดกรด”
ยาลดกรดออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกในการออกฤทธิ์ของยาลดกรดคือการนำความเป็นด่างของยาสะเทินกับกรดในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เพื่อลดความเป็นกรด เมื่อความเป็นกรดลดลงการกัดกร่อนของกรดที่จะทำให้เกิดแผลหรือการทำให้แผลที่มีอยู่ระคายเคืองจึงลดลงและให้ผลในการบรรเทาอาการ
ยาลดกรดชนิดต่างๆ และคุณสมบัติ
ยาลดกรดที่มีในท้องตลาดมีหลากหลายชนิดซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติเด่นและด้อยแตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide, AlOH3)
2. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide, MgOH2) แมกนีเซียมไตรซิลิเกต (magnesium trisilicate) หรือแมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate, MgCO3)
ยาสองชนิดนี้มักใช้เป็นสูตรผสมคู่กัน โดยจัดเป็นยาลดกรดที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ออกฤทธิ์เฉพาะที่กระเพาะอาหารจึงไม่รบกวนสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย โดยอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มีผลทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้นเมื่อใช้เป็นสูตรผสมรับประทานร่วมกันจึงมีผลต่อระบบขับถ่ายน้อย อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์อาจนำมาใช้ในการลดปริมาณฟอสเฟตในเลือดในผู้ป่วยโรคไต
ในขณะที่แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไต ดังนั้นยาที่เป็นสูตรผสมของยาสองชนิดนี้จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไต ยาในกลุ่มนี้เช่น แอนตาซิล (Antacil) มาล็อกซ์ (Maalox) อะลัมมิลค์ (Alum milk)
3. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate, NaHCO3) หรือโซดามินท์ (sodamint)
โซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นยาลดกรดชนิดออกฤทธิ์เร็ว แต่มีฤทธิ์ในการรักษาสั้น การใช้ยานี้สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ คุณสมบัติของยาที่สามารถดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้จึงอาจทำให้เลือดและปัสสาวะเกิดสภาวะเป็นด่างมากกว่าปกติ รวมไปถึงการมีโซเดียมมากเกิดในกระแสเลือดได้ จึงเหมาะที่จะใช้ในการบรรเทาอาการกรดเกินหรือการระคายเคืองทางเดินอาหารเมื่ออาการกำเริบ แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำเพื่อควบคุมภาวะความเป็นกรด นอกจากยานี้จะใช้ในการลดกรดในทางเดินอาหารแล้ว ยังอาจพบการใช้โซเดียมไบคาร์บอเนตในการควบคุมความสภาวะความเป็นกรดในเลือดในผู้ป่วยโรคไตอีกด้วย ยาในกลุ่มนี้ เช่น อีโน (ENO)
4. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate, CaCO3)
แคลเซียมคาร์บอเนตให้ฤทธิ์ในการรักษาและออกฤทธิ์ได้เร็วระดับปานกลาง ยานี้อาจมีผลทำให้ท้องผูกได้
ข้อควรระวังในการใช้ยา
1.ไม่ควรใช้ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของเกลือแมกนีเซียมในผู้ป่วยโรคไต เพราะอาจทำให้สะสมจนเป็นอันตรายได้
2.ยากลุ่มนี้เกิดปฏิกิริยากับยาหลายชนิด เช่น
– ยาฆ่าเชื้อ : เตตร้าซัยคลิน (tetracycline), ไซโปรฟล๊อคซาซิน (Ciprofloxacin)
– ยารักษาโรคหัวใจ : ไดจ๊อกซิน (digoxin)
– ยารักษาวัณโรค : ไอโซไนอาซิด (isoniazid)
– ยาบำรุงเลือด เช่น ธาตุเหล็ก
– ยารักษาโรคกระเพาะกลุ่มยับยั้งตัวรับฮิสทามีนชนิดที่ 2 (H2-receptor antagonist) ได้แก่
ซัยเมททิดีน (cimetidine), รานิทีดีน (ranitidine), ฟาโมทิดีน (famotidine)
ดังนั้น ควรกินยาลดกรดห่างจากยาดังกล่าวประมาณ 2 ชั่วโมง และควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเมื่อใช้ยาดังกล่าว
นายแพทย์ Jay W Marks จาก MedicineNet ได้ชี้แจงว่า การทานยาลดกรดในกระเพาะมักจะมีผลข้างเคียงเช่น ท้องผูก จากยาลดกรดชนิดที่มีอลูมินัม หรือ ท้องร่วง จากยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม การรับประทานยาลดกรดชนิดที่มีแคลเซียม คาร์โบเนต มากเกินไป อาจก่อให้เกิดความไม่สมดุลย์ของระดับแคลเซียมและ กรดในร่างกาย ซึ่งจะทำให้มีผลเสียต่อไต นอกจากนั้น ยาลดกรดชนิดที่มีแคลเซียมอาจทำให้ร่างกายหลั่งกรดออกมามากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีผลในการลดกรดในช่วงแรกหลังการรับประทานยา ในผู้ป่วยที่มีโรคไต สารอลูมินัมจากยาลดกรดที่มีอลูมินัมอาจสะสมในร่างกายด้วย ซึ่งอาจจะเป็นพิษต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหารในบางครั้ง บางคราว หรือแม้กระทั่งการรับประทานทุกวัน ยังถือว่าเป็นระดับที่ปลอดภัยอยู่
หมายเหตุ Gaviscon เป็นยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไบคาร์บอเนต แคลเซียมคาร์บอเนต และโซเดียมแอลจิเนต
โดย Gaviscon dual action จะมีปริมาณตัวยาที่ใช้ในการลดกรดมากกว่า Gaviscon สูตรปกติ
ขอบคุณ : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล